ตามเห็นกายในกาย
ข้าแต่พระโคดม หม่อมฉันเป็นผู้อันพระองค์ให้เกิดแล้ว รูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันทำให้เจริญเติบโต ส่วนพระธรรมกายอันน่ารื่นรมย์ของหม่อมฉัน พระองค์ทำให้เจริญเติบโตแล้ว หม่อมฉันให้พระองค์ดูดดื่มน้ำนม อันระงับเสียได้ซึ่งความอยากชั่วครู่ แม้น้ำนม คือ พระสัทธรรมอันสงบ ระงับความกระหายทุกอย่าง พระองค์ก็ให้หม่อมฉันดูดดื่มแล้ว
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (๒)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางสุดโต่งสองอย่างบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ การทรมานตัวเองให้ลำบากและการประกอบพัวพันในกาม
ที่พึ่งอันอมตะ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี พึงระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรม อันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นนาบุญอันเยี่ยม ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลย
รัตนะ ๗ ยังสู้พระรัตนตรัยไม่ได้
รัตนะใดๆ ที่มีมากมายในโลกนี้ รัตนะนั้นทั้งหมด เทียบไม่ได้กับพุทธรัตนะ ดังนั้น ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
รัตนะภายใน
ชนทั้งหลายย่อมแสดงธรรมกาย และไม่อาจทำบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งสิ้นให้กำเริบได้ ใครได้เห็นแล้วจะไม่เลื่อมใสเล่า
อานุภาพพระรัตนตรัย
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงรู้ธรรมอันประเสริฐ ประทานธรรมอันประเสริฐ เป็นผู้นำมาซึ่งพระธรรมอันประเสริฐ ไม่มีใครยิ่งกว่า ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ รัตนะแม้นี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสุขสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด
ที่พึ่งที่แท้จริง
จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่
กายแห่งการตรัสรู้ธรรม
ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลาย มาปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น พราหมณ์ย่อมกำจัดมาร และเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์กำจัดความมืด ส่องสว่างอยู่ในอากาศ ฉะนั้น
ถึงพระรัตนตรัย ไม่ไกลนิพพาน
ท่านทั้งหลายจงรับไตรสรณคมน์ จงรับศีลห้า ยังจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าแล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ท่านทั้งหลายจงดูเราเป็นตัวอย่าง รักษาศีลแล้ว แม้ทุกท่านก็จักได้บรรลุอรหัตโดยไม่นานเลย เราเป็นผู้มีวิชชา ๓ บรรลุอิทธิวิธี ฉลาดในเจโตปริยญาณ เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถึงสรณคมน์
เป้าหมายสูงสุดของชีวิต
ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องทรงจำ เรากล่าวว่า เป็นบัณฑิต เพราะการยึดได้ซึ่งประโยชน์ในทิฏฐธรรม และประโยชน์ในสัมปรายภพ